ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ดำเนินการปิดจุดระบายน้ำล้นที่ฝายน้ำล้น (Weir) ทุกจุด เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลล้นลงบ่อผันน้ำฝนลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ และทำการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปิดกั้นน้ำทะเลเพื่อมิให้น้ำทะเลไหลเข้าออกมารวมกับบ่อผันน้ำฝนและน้ำเสีย รวมทั้งให้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหากรณีมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากในช่วงฤดูฝนฤดูมรสุม หรือหากมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทันที
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2565 ระหว่าง จ่าอากาศเอก เสกสรรค์ จันทร ที่ 1 นายสุรยุทธ ยงชัยยุทธ ที่ 2 ผู้ฟ้องคดี กระทรวงมหาดไทย ที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ 2 เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ 3 กระทรวงคมนาคม ที่ 4 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 ที่ 5 ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นประชาชนอยู่ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ และเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากชายหาดอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ในการออกกำลังกายและสันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ โดยก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ผู้ฟ้องคดีทั้งสองพบเห็นการปล่อยน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งมีกลิ่นเหม็น สีดำคล้ำ และไม่ผ่านการบำบัด ลงสู่ชายหาดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่รอยต่อหน้ากองบิน 5 ถึงด้านหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดแนวชายหาด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ให้ทำการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงนำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองประจวบคีรีขันธ์ ให้ดำเนินคดีกับหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และพวก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อมา วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประจวบคีรีขันธ์ ปลัดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.จ.) ได้ลงพื้นที่บริเวณชายหาดหน้าอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียลงชายหาดในจุดที่มีปลายท่อใกล้โรงแรมหาดทอง และร้านอาหารเพลินสมุทร ซึ่งพบว่าน้ำเสียจากชุมชนไม่ได้ไหลผ่านท่อเพื่อผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย หลังจากนั้น สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประจวบคีรีขันธ์ มีหนังสือ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สั่งให้นายกเทศมนตรีเมืองประจวบคีรีขันธ์ ปิดท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเสียที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดไหลลงสู่ชายหาดและทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทำให้น้ำเสียไหลลงทะเลตามปกติตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำน้ำเสียจากบริเวณหน้าโรงแรมประจวบบีช โรงแรมหาดทอง และบริเวณหน้าสะพานสราญวิถี ส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่า ค่าความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ (BOD) ค่าน้ำมันและไขมัน (FOG) และค่าไนโตรเจนทั้งหมด (TN) มีค่าเกินมาตรฐาน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า การปล่อยน้ำเสียลงชายหาดและทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ดังกล่าว เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ และจิตใจของชาวชุมชนบริเวณชายหาดอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ทั้งที่เดิมชายหาดอ่าวประจวบคีรีขันธ์เป็นชายหาดที่มีทรายละเอียดเป็นสีขาว ทัศนียภาพสวยงาม สงบสุข และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชน ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งชาวบ้านบริเวณดังกล่าวได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 มาโดยตลอดแต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จึงเป็นการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่ออ่าวประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าอันประเมินมิได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ปิดท่อบริเวณที่มีน้ำเสียไหลลงทะเล 30 จุด ตั้งแต่ด้านหน้ากองบิน 5 ถึงโรงสูบน้ำเสียตรงข้างสำนักงานศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการถาวร เพื่อให้น้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ถูกนำไปบำบัดที่บ่อบำบัดน้ำเสียตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปิดท่อระบายน้ำจำนวน 30 จุด ตั้งแต่รอยต่อหน้ากองบิน 5 ถึงด้านหน้าสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยทันที
ศาลปกครองเพชรบุรีวินิจฉัยความสรุปว่า เมื่อข้อเท็จจริงจากคำฟ้อง คำชี้แจงของคู่กรณี ตลอดจนการตรวจสถานที่และเอกสารอื่นในสำนวนคดี ฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบและวางระบบรวบรวมน้ำเสีย ออกแบบโดยกรมโยธาธิการ ซึ่งมีรูปแบบระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสียเป็นระบบท่อรวม (Combined system) ทำหน้าที่รวบรวมน้ำเสียจากชุมชนไปยังบ่อบำบัดรวบรวมน้ำเสีย มีสถานีสูบน้ำเสียที่ 2 (PS2) และสถานีสูบน้ำเสียที่ 3 (PS3) ทำหน้าที่ส่งน้ำเสียผ่านท่อไปยังสถานีสูบน้ำเสียที่ 1 (Ps1) และส่งไปยังโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อทำการบำบัดก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ บริเวณคลองบางนางรม โดยระบบระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนดังกล่าว มีการออกแบบก่อสร้างไว้ให้น้ำในท่อสามารถไหลล้น (Overflow) เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่มีจำนวนมากลงจุดระบายน้ำล้นในบ่อผันน้ำฝน จำนวน 4 จุด ได้แก่ (1) บ่อผันน้ำฝนหน้าโรงแรมประจวบบีช (2) บ่อผันน้ำฝนหน้าโรงแรมหาดทอง (3) บ่อผันน้ำฝนข้างสะพานสราญวิถี ทั้งซ้ายและขวา และ (4) บ่อผันน้ำฝนหน้าห้องน้ำสาธารณะ ด้านหน้าสถานีสูบน้ำเสียที่ 2 (Ps2) ซึ่งการไหลล้น (Overflow) ดังกล่าว จะเป็นการไหลผ่านฝายน้ำล้น (Weir) ลงบ่อผันน้ำฝนลงสู่ทะเล โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาค 8 จังหวัดราชบุรี ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากท่อระบายน้ำบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 3 จุด ได้แก่ บ่อผันน้ำฝนด้านหน้าของโรงแรมประจวบบีช บ่อผันน้ำฝนด้านหน้าของโรงแรมหาดทอง และบ่อผันน้ำฝนด้านข้างของสะพานสราญวิถี เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง ผลการตรวจปรากฏว่า คุณภาพน้ำทิ้งจากท่อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยเทียบเคียงกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 พบว่า มีค่าความสกปรกในรูปแบบสารอินทรีย์ (BOD) และค่าน้ำมันและไขมัน (FOG) มีค่าเกินมาตรฐานทั้ง 3 จุด และพบว่าจุดเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณหน้าโรงแรมหาดทอง มีค่าไนโตรเจน (TN) เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด และปรากฏตามรายงานการตรวจสอบ วิเคราะห์ และแปลผลคุณภาพน้ำของพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้จัดเก็บตัวอย่างน้ำในวันที่ศาลออกตรวจสถานที่พิพาทเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 3 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีการเทียบเคียงกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2553) ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 สรุปได้ว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำตัวอย่าง ที่เก็บจากท่อระบายน้ำทิ้งบริเวณหน้าโรงแรมประจวบบีช พบว่ามีค่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้เทียบเคียง ส่วนผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำตัวอย่าง ที่เก็บจากท่อระบายน้ำทิ้งบริเวณหน้าโรงแรมหาดทอง พบว่าค่าความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ (BOD) มีค่าเท่ากับ 42.41 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินมาตรฐานที่ใช้เทียบเคียง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นว่า การที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีรูปแบบระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสียเป็นระบบท่อรวม (Combined system) ซึ่งรองรับทั้งน้ำเสียจากชุมชนและน้ำฝน โดยระบบระบายน้ำดังกล่าวมีการออกแบบก่อสร้างไว้ให้น้ำในท่อสามารถไหลล้น (Overflow) ผ่านฝายน้ำล้น (Weir) ลงบ่อผันน้ำฝนลงสู่ทะเล ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ยอมรับว่าได้รับทราบปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากท่อระบายน้ำลงสู่ทะเลบริเวณหาดประจวบคีรีขันธ์ดังกล่าว และดำเนินการประชุมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พยายามแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวในระยะเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ณ วันที่ศาลออกตรวจสถานที่เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณหน้าโรงแรมประจวบบีชและหน้าโรงแรมหาดทอง ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำที่ไหลล้นจากฝายน้ำล้น (Weir) ทั้งสองจุด ปรากฏว่าตัวอย่างน้ำทิ้งที่ไหลล้นจากฝายน้ำล้น (Weir) บริเวณหน้าโรงแรมหาดทอง ก็ยังมีคุณภาพน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2553) ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 อีกทั้งข้อเท็จจริงยังเห็นได้อย่างชัดแจ้งตามภาพถ่ายในวันที่ศาลออกตรวจสถานที่พิพาทว่า บริเวณจุดระบายน้ำล้นหน้าหน้าโรงแรมหาดทอง มีภาพน้ำล้นจากฝายน้ำล้น (Weir) ไหลลงสู่ทะเล และอุปกรณ์ที่ใช้ในการปิดกั้นน้ำทะเลเพื่อมิให้ไหลเข้าออกมารวมกับบ่อผันน้ำฝนและน้ำเสียนั้น ปรากฏว่ามีการชำรุดและไม่มีการปิดกั้นน้ำทะเลและน้ำเสียแต่อย่างใด ทำให้น้ำเสียบางส่วนไหลลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้น จึงเห็นว่าคำฟ้องคดีนี้มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ยังคงละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากท่อระบายน้ำลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ประกอบกับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ชี้แจงว่า หากศาลจะมีคำสั่งให้ปิดจุดระบายน้ำล้นทั้ง 4 จุด ซึ่งเป็นจุดผันน้ำฝน ในส่วนของการรวบรวมน้ำเสียไปบำบัดจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากระบบท่อที่ออกแบบไว้จะสามารถรองรับปริมาณน้ำเสียจากชุมชนได้และปริมาณน้ำเสียจะไม่สูงเกินกว่าระดับของฝายน้ำล้น (Weir) เว้นเสียแต่ระบบทางเดินท่อรวบรวมน้ำเสียอาจมีปัญหา หรืออาจมีการชำรุด หรืออาจมีสิ่งใดกั้นขวางทางน้ำ เป็นต้น อาศัยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จึงเห็นควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการปิดจุดระบายน้ำล้นที่ฝายน้ำล้น (Weir) ทุกจุด เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลล้นลงบ่อผันน้ำฝนลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ และทำการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปิดกั้นน้ำทะเลเพื่อมิให้น้ำทะเลไหลเข้าออกมารวมกับบ่อผันน้ำฝนและน้ำเสีย รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหากรณีมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากในช่วงฤดูฝน ฤดูมรสุม หรือหากมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ข้อ 75 และข้อ 77 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ประกอบกับมาตรา 254 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 255 (2) (ก) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการปิดจุดระบายน้ำล้นที่ฝายน้ำล้น (Weir) ทุกจุด เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลล้นลงบ่อผันน้ำฝนลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ และทำการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปิดกั้นน้ำทะเลเพื่อมิให้น้ำทะเลไหลเข้าออกมารวมกับบ่อผันน้ำฝนและน้ำเสีย รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหากรณีมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากในช่วงฤดูฝน ฤดูมรสุม หรือหากมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทันทีที่ได้รับคำสั่งศาล จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สำนักงานศาลปกครองเพชรบุรี วันที่ 27 มีนาคม 2566