กำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง
ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2565
สำนักงานศาลปกครองขอแจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
- วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อส.48/2557 ระหว่าง นายพินิจ สารภูมี กับพวกรวม 108 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 14 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
(คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ได้ขอขยายพื้นที่และโรงงานทำเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรม โดยผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9) ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้ให้ความยินยอมและคัดค้าน อีกทั้งการขอขยายโรงงานไม่ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่กลับมีการออกใบอนุญาตให้ขยายพื้นที่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ในสถานที่แห่งใหม่ที่ไม่เป็นไปตามแผนผังเดิมที่ได้รับ ประทานบัตร ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) จากเดิมที่กำหนดให้ก่อสร้างทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 1 (TSF1) ไปเป็นก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดทำเป็นสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย ตามใบประทานบัตรที่ 1/2548 ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี (เดิม) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการควบคุมกำกับดูแลผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ไม่ให้ทำการก่อสร้างและใช้งานบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ดังกล่าว และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14) ออกคำสั่งหรือออกใบอนุญาตการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จนกว่าจะได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นการพิจารณาทางปกครองตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมกำกับดูแลไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 เดินเครื่องจักรเพื่อประกอบกิจการในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14 เสนอต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายให้พิจารณาอนุมัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครองและมีคำสั่งอนุญาตตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14 ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จะเปลี่ยนแปลงผังโครงการ โดยเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 จากสถานที่ที่ถูกกำหนดไว้เดิม ไปก่อสร้างยังที่แห่งใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จะต้องเสนอรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประกอบกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการเหมืองแร่พิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อนเพราะเมื่อสถานที่ก่อสร้างฯ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างร้ายแรงได้ ดังนั้น ขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองที่ต้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการเหมืองแร่พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่ดังกล่าว จึงเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่งอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการหรือสถานที่ก่อสร้าง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่ง อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 เปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการเหมืองแร่ก่อน นั้น จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฯ เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้ก่อสร้างและขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) เพื่อเพิ่มหรือขยายกำลังการผลิต โดยมีการทดลองเดินเครื่อง เพื่อทำการผลิตในโรงงาน ทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 14 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตราบใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 14 ย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ทำการก่อสร้างส่วนขยาย โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 14 มีหน้าที่ต้องควบคุมกำกับดูแลผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 แต่กลับปล่อยมีการก่อสร้างและใช้งานในส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ณ ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
สำนักงานศาลปกครอง 28 ตุลาคม 2565