หลวงไม่อนุญาตให้ดูดทราย ยื่นฟ้องได้ที่ “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ศาลปกครอง !
หลวงไม่อนุญาตให้ดูดทราย ยื่นฟ้องได้ที่ “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ศาลปกครอง !

นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม


               “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ในศาลปกครอง ... เปิดแล้วจ้า !!!
               ป่าวประกาศดังๆ จัดกันไปเต็มๆ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้รู้ว่า ถ้ามีปัญหาหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วละก้อ
               สามารถมาฟ้องคดีที่ “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ของศาลปกครองที่เพิ่งเปิดทำการทั่วทั้งประเทศกันได้นะพี่น้อง
               แล้วฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ที่เปิดใหม่เนี่ย ... ฟ้องดี ฟ้องง่ายอย่าบอกใครเชียว เพราะว่าเขียนคำฟ้องไม่เป็น มึนๆ งงๆ เริ่มต้นไม่ถูก ก็มีเจ้าหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำ
               พยานหลักฐานแนบท้ายคำฟ้อง แนบมาครบไม่ครบ ก็มีท่านตุลาการช่วยพิจารณาตรวจสอบให้ในเบื้องต้น เพื่อจะได้สั่งการให้แก้ไขกันให้ถูกต้อง จะได้เริ่มดำเนินคดีและพิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและยุติธรรม !!!
               เรียกได้ว่าศาลปกครองท่านปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม โดยการตั้ง “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ขึ้น ก็เพื่อเป็นที่พึ่งในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนั่นเอง
               เพราะฉะนั้น ลองมาฟังตัวอย่างคดีปกครองสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่ประชาชน และผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้ดูว่า … ศาลปกครองเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อย่างไร
               ความที่จะเล่าต่อไปนี้  มีเนื้อความตามท้องเรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดพังงาปักษ์ใต้บ้านเรา
               ต้นสายปลายเหตุก็คือว่า คุณพี่ท่านหนึ่งแกทำมาหากินเกี่ยวกับการดูดทรายในเขตพื้นที่ อบต. มาหลายปีดีดัก
               คราวนี้พอใกล้จะครบขวบปี ซึ่งถึงเวลาที่จะต้องยื่นขอต่อใบอนุญาตประจำปี พี่แกก็เตรียมหลักฐานไปยื่นที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเรียบร้อย จังหวัดก็เลยส่งเรื่องต่อไปให้ อบต. พิจารณา
               แต่ อบต. พิจารณาแล้ว กลับมีมติไม่เห็นชอบให้ต่อใบอนุญาตให้แก่คุณพี่ซะงั้น !! เหตุที่อ้างก็คือว่าการดูดทรายของบริษัทคุณพี่ทำให้ตลิ่งริมคลองพัง ถนนหนทางเสียหาย
               อบต. เลยส่งเรื่องกลับมาให้ “คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย” เสนอเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตตามขั้นตอน
               แต่คณะอนุกรรมการเห็นมติของ อบต. แล้ว ก็อยากจะขอดูให้เห็นกะตาว่า การดูดทรายของบริษัทคุณพี่จะทำให้ตลิ่ง ถนน พังจริงหรือไม่ เลยพากันออกเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่
               พอเห็นพื้นที่จริงแล้ว หลังจากทำการตรวจสอบพื้นที่เสร็จเรียบร้อย คณะอนุกรรมการจึงได้ทำรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตของ ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า การพังทลายของดินไหล่ถนนริมตลิ่งคลอง   เกิดจากฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลไปกัดเซาะ
ไหล่ทาง เพราะว่าถนนไม่มีรางระบายน้ำและท่อลอดใต้ถนน
               และจุดเกิดเหตุดังกล่าว ห่างจากบริเวณที่คุณพี่แกดูดทรายประมาณหนึ่งกิโล
               ส่วนวิธีแก้ไขมิให้ตลิ่งพังจากการกัดเซาะ คณะอนุกรรมการก็เสนอมาพร้อมเสร็จสรรพว่า อาจทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง กับให้ขุดลอกร่องน้ำ หรือดูดทราย หรือวิธีการอื่นใด เพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำไหล
               หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการก็ได้มีมติไม่ควรต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่คุณพี่คนนี้ แล้วเสนอผู้ว่าพิจารณา
               ผู้ว่าท่านก็รับลูกต่อทันที โดยมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่คุณพี่ และมีคำสั่งให้คุณพี่แกหยุดประกอบการดูดทรายด้วย
ณ บัด now !!
               ชิชะๆ ก็ต่อใบอนุญาตกันมาซื่อๆ ทุกปี ... อยู่ดีๆ ปีนี้ ดันมาอ้างว่าบริษัทของกระผมดูดทราย แล้วทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย แล้วไม่ต่อใบอนุญาตกันดื้อๆ ... อย่างนี้มันต้องฟ้องครับปี้น้อง !!!!!
               พี่แกก็เลยมาฟ้องคดีที่ศาลปกครอง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่ต่อใบอนุญาตดูด ทรายให้ และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายจากการที่พี่แกขาดรายได้ เพราะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพดูดทรายต่อไป
               คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ในการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายนั้น ข้อ 18 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2523 ได้กำหนดให้ “คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย” คำนึงถึงในด้านวิชาการ ในด้านการปกครอง และแม่น้ำลำคลองแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
               โดยเมื่อพิจารณาในด้านวิชาการ จากผลการตรวจสภาพพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ ไม่พบว่าการดูดทราย  ทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพตลิ่ง สภาพธรรมชาติของลำน้ำ ส่วนในด้านการปกครอง ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน  แก่ราษฎรในเขตพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีดำเนินการดูดทราย
               แต่คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติไม่เห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการ ดูดทรายในพื้นที่
               ซึ่งข้อ 18 (2) ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ จะมีมติให้อนุญาตได้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน ท้องที่ที่ขออนุญาต
               ซึ่งทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเหนือคณะอนุกรรม การฯ และทำให้อำนาจการให้อนุญาตของคณะอนุกรรมการฯ ตามข้อ 10 ของระเบียบดังกล่าวไม่มีผล
               อีกทั้งยังทำให้หลักการประชุมตามข้อ 6 ของระเบียบที่ให้มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากเปลี่ยนแปลงไปเพราะทำให้ คะแนนเสียงขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเสียงชี้ขาด
               ดังนั้น เมื่อการขอต่อใบอนุญาตดูดทรายของผู้ฟ้องคดี ไม่ก่อความเสียหายแก่สภาพตลิ่งหรือเกิดความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร
               การที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติว่าองค์การบริหารส่วนตำบลไม่เห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีต่อใบอนุญาตดูดทราย เพียงเหตุผลเดียว แล้วมีมติไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดูดทราย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               เป็นเหตุให้คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาที่ไม่ต่อใบ อนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดี และมีคำสั่งให้หยุดการดูดทราย ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกตามมติดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               เมื่อคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องหยุดการประกอบอาชีพดูดทรายที่ได้ประกอบการต่อเนื่องตลอดมา กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองที่จังหวัดพังงา จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
               ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการ จังหวัดพังงาที่ปฏิเสธไม่ต่อใบอนุญาตดูดทรายให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้จังหวัดพังงาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในหกสิบวันนับแต่วัน ที่ศาลมีคำพิพากษา
               คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ได้ว่า ถ้าหลวงจะปฏิเสธไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับการต่ออายุใบอนุญาตดูดทราย กันแล้วละก็  คงต้องใช้เหตุผลเรื่องความเสียหายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่พิสูจน์กันได้ชัดๆ จริงๆ มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการก็คงต้องฟ้องให้ศาลปกครอง “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” ให้ความเป็นธรรมแก่เขา ดังเช่นคดีนี้แล .  (คดีหมายเลขแดงที่ อ.286/2553))

 


ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 18 ก.พ. 2559, 09:56 น. | กลับขึ้นด้านบน |