ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ ก็ฟ้องศาลปกครองได้ !! |
นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
เห็นข่าวเรือขนน้ำตาลล่มที่อยุธยาแล้วน่าตกใจ !
ที่บอกว่าน่าตกใจก็เพราะว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มันส่งผลกระทบทั้งต่อชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือน ทำมาหากินกันริมแม่น้ำ เพราะนอกจากปลาที่เลี้ยงไว้ค้าขาย หรือที่จับกินเอาตามธรรมชาติ จะตายกันเป็นเบือแล้ว
มิหนำซ้ำบ้านช่องที่ปลูกตั้งกันอยู่ริมตลิ่ง ก็ยังถูกกระแสน้ำที่เปลี่ยนทางไหล เพราะเกิดจากเรือ ขนน้ำตาลจมขวางอยู่ กัดเซาะเอาจนบ้านจะพังไหลไปตามน้ำเสียอีก
พูดถึงความเดือดร้อนของคนกันไปแล้ว ถ้าจะเอาให้ครอบคลุมกันตามระบบสิ่งแวดล้อมของอารยประเทศ ก็ต้องพูดถึงสิทธิในการมีชีวิตของสัตว์เขาด้วย
เพราะกุ้ง หอย ปู ปลา เดิมมันก็อยู่ของมันดีๆ แต่ดั๊นมีภัยที่ไม่คาดหมายของพวกมนุษย์ ไปทำให้มันเดือดร้อน บาดเจ็บล้มตายเสียได้ ...
รายการอย่างนี้ ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้วบางประเทศ เขาให้สิทธิคนฟ้องคุ้มครองชีวิตสัตว์กันได้เทียวนา
ยัง ... ยังไม่หมด เพราะความเสียหายที่เกิดจากเรือขนน้ำตาลล่มเที่ยวนี้ ที่ร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งก็คือมันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวมด้วย เพราะน้ำก็เสีย ปลาก็ตาย ทางน้ำก็เปลี่ยนแปลง
แถมสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กบางประเภทที่เป็นอาหารของปลาในระบบห่วงโซ่อาหาร ก็พลอยตายตามไปด้วย
เห็นมั้ยหละว่า ... เรือล่มแล้วมีของแปลกปลอมจมลงไปในแม่น้ำเนี่ย ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เอาเสียเลย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ และสร้างปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใหญ่โตเอาการทีเดียว !!
แล้วคิดดูสิ เป็นเรื่องเป็นราว เสียหายมากมายก่ายกองอย่างนี้ ใครจะเข้ามารับผิดชอบดูแลเยียวยาทุกข์สุขให้แก่ชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมดังกล่าวได้ ถ้าไม่ใช่ “หน่วยงานของรัฐ” หรือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่เกี่ยวข้อง
เพราะถ้าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากเหตุเรือขนน้ำตาลล่มยังมีอยู่ แล้วหน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขให้ทันท่วงที หรือชดใช้ให้ถูกต้อง เหมาะสม กับความสูญเสียที่ชาวบ้านได้รับ ... ไอ้อย่างงี้ มันก็เป็น “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” แหงๆ
ชาวบ้านก็มีสิทธิมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้แน่นอน !!
แล้วขอโทษ ... ขอแอบกระซิบเบาๆ ที่ข้างหูพี่น้องสักนิดนึงนะว่า ... ฟ้องคดีให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายที่ศาลปกครองเนี่ย ถ้าชนะคดี !
ฟังดีดี ... ย้ำว่า “ถ้าชนะคดี” นะ !! ... โอกาสได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนเหนาะๆ เรียกได้ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์
หลวงท่านจ่ายแน่ ไม่มีเบี้ยว เพราะมีระเบียบกฎหมายบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายตาม คำพิพากษาของศาล
แต่ถ้าพี่น้องฟ้องบริษัทเอกชนอย่างเดียวเป็นคดีแพ่ง ... ชนะคดีแล้ว จะได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายทันท่วงที หรือเต็มจำนวนหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้ด้วยนา
เพราะคนแพ้คดีเขาอาจจะทำมึน ดึงเรื่องจ่ายช้าๆ หรือจ่ายทีละนิดละหน่อย แล้วแต่จะบังคับคดีกับเขาแค่ไหนก็ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเดือดร้อนจนทนกันไม่ไหวแล้ว ฟ้องคดีที่ศาลปกครองหละดีที่สุด ... ฟ้องง่าย สู้คดี ไม่เหนื่อย
เพราะตุลาการมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมในคดีได้เอง ไม่ต้องรอพยานหลักฐานจากคู่ความ ... แถมถ้าชนะ ก็รับเงินกันไปเต็มๆ
เรียกได้ว่า “จัดไปอย่าให้เสีย” !!
คราวนี้ เพื่อให้มีคดีที่เป็นหลักกฎหมายใกล้เคียงกับเหตุภัยพิบัติเรือขนน้ำตาลล่มในบ้านเรา เลยขออนุญาตโกอินเตอร์ นำคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดีๆ จากต่างประเทศ มาเล่าสู่กันฟังบ้าง
เพราะว่าพอดีเหลือบไปเห็นคดีของศาลสูงสุดอินเดียที่ ดร.สุชาติ วงศ์สินนาค นักวิชาการของสำนักงานศาลปกครองท่านแปลเอาไว้ ได้สาระและหลักกฎหมายครบถ้วนดีเยี่ยม
เรื่องของเรื่อง มันก็คือว่า มีกระทาชายนายหนึ่งมายื่นฟ้องต่อศาล โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
เพราะบริษัทอุตสาหกรรมใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ปล่อยขยะของเหลวลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำเสีย มีมลพิษ คนก็กิน ใช้ หรือทำการเกษตรก็ไม่ได้ สัตว์น้ำก็ทยอยนัดกันตายไปเรื่อยๆ แถมมีกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีก
ตาลุงอินตะระเดียคนนี้ เวลาฟ้องศาล แกมีข้ออ้างดี ... แกอ้างว่า บริษัททำอย่างนี้ มันละเมิดต่อสิทธิในการดำรงชีวิตที่ดีของฉานนะนายนะ .. อีนี้ ฉานว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแน่ๆ นะนายจ๋า .. (ว่าเข้านั่น)
ลุงแกเลยควงแขนศรีภรรยา วิ่งข้ามภูเขาสามลูก เลี้ยวหลบ ซ่อนแอบกันตามต้นไม้อีกสี่ห้าร้อยต้น จนมาถึงศาล
แกเลยฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็คือ “คณะกรรมการควบคุมมลพิษแห่งรัฐ” ให้รับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
เรื่องนี้มีหลักกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับ “สิทธิในการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่อศาล เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งศาลสูงสุดอินเดียวินิจฉัยไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิดังกล่าวก็หมายความรวมถึง สิทธิที่ที่จะใช้ชีวิตโดยปราศจากมลภาวะทั้งทางน้ำและอากาศ
ถ้าสิ่งใดก็ตามคุกคาม หรือมีผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิต ในทางที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง
ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ไขเยียวยากรณีที่มีมลภาวะทางน้ำหรืออากาศที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตนั้นได้
การฟ้องคดีเพื่อป้องกันการเกิดมลภาวะเป็นพิษเช่นว่านั้น จึงสามารถทำได้โดยบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเอง หรือแม้แต่โดยกลุ่มของพวกที่ทำงานเพื่อสังคม หรือโดยนักสื่อสารมวลชน”
แหม ... ฟังแล้วก็ซาบซึ้งในหลักกฎหมายของศาลอินเดียท่าน จับใจกันเลยทีเดียวนะนายจ๋า
สรุปได้ว่าประชาชนเราๆ ท่านๆ ถ้าใครเห็นว่าหน่วยงานของรัฐละเลย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแล้วหละก็
แม้ความเดือดร้อนนั้นจะไม่เกิดกับเราตรงๆ ณ ที่นั้น เวลานั้น แต่หากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของส่วนรวม พวกเราก็สามารถฟ้องหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาล เพื่อยับยั้ง มิให้ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นต่อไปได้ ... แหม เยี่ยมจริงๆ
อะแฮ่ม ... แต่ก็อย่าเพิ่งเห่อตามศาลอินเดียท่านไป เพราะเท่าที่ทราบ ศาลปกครองไทยท่านก็ถือหลักอย่างนั้นเหมือนกันนะ ...
เพราะฉะนั้น ถ้าเดือดร้อนเสียหายจากเหตุเรือขนน้ำตาลล่ม แล้วรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ไหว อย่างนี้ เพื่อประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน ... ศาลปกครองก็พร้อมจะเป็นที่พึ่งในคดีประเภทนี้ให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนได้เสมอ. (คดี Subhash Kumar v. State of Bihar (AIR 1991 SC 420))