ขออู่ซ่อมรถผมคืนด้วยครับ .. เจ้านาย !!! |
นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
คงไม่มีรถยนต์ของใครไม่เคยเสียหรือพัง
เพราะฉะนั้น ถ้าเสียหรือพังก็ต้องซ่อม ซึ่งปัจจุบันก็แล้วแต่ความนิยมชมชื่นส่วนบุคคล ถ้ากะว่าซ่อมกันดีๆ หน่อยก็ส่งเข้าศูนย์รถยนต์ตามยี่ห้อที่เราซื้อมา
แต่ต้องทำใจ เพราะค่าซ่อมอาจแพงนิดนึง
แต่ถ้าเอาว่าประหยัดหน่อย แล้วก็คุณภาพเป็นไปตามความเชื่อมั่นเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ซ่อมและผู้รับซ่อมก็คงต้องเป็น ‘อู่ซ่อมรถ’ ทั่วๆ ไป
คราวนี้อู่ซ่อมรถ จะซ่อมอย่างเดียว หรือปะผุตัวถัง หรือพ่นสีรถด้วยก็สุดแท้แต่ .. ตัวงานของมัน ย่อมทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญกับเพื่อนบ้าน หรือชุมชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้
พูดเป็นภาษาวิชาสุขศึกษาหน่อย ก็ต้องบอกว่ามันเป็นกิจการที่กระทบกระเทือนต่อ “ระบบสาธารณสุขของสังคม” !!
ที่พูดอย่างนั้น คงไม่โอเวอร์จนเกินไปหรอก เพราะกิจการอู่ซ่อมรถเนี่ย ถ้าทำไม่ถูกต้อง และไม่คำนึงถึงระบบสาธารณสุขของชุมชนจริงๆ แล้วหละก็ ...
ผลกระทบจากงานของมัน สร้างมลพิษได้เกือบครบวงจรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังจากการเร่งเครื่องยนต์ กลิ่นเหม็นและสารระเหยจากคราบน้ำมัน ควันพิษจากรถยนต์ ... นี่ไม่นับเสียงตะโกนโหวกเหวกด่าทอลูกจ้างจากเถ้าแก่นะ
ใครไม่เชื่อว่ามันจะสร้างมลพิษได้ขนาดนั้น ก็ลองหาเวลาว่างๆ อารมณ์ดี ไปนั่งเล่นที่อู่ซ่อมรถใกล้ๆ บ้านซักชั่วโมงนึง แล้วจะรู้ว่ามันชวนหงุดหงิด งุ่นง่าน อารมณ์เสียได้เร็วขนาดไหน
นั่นหละ ... ผลจากมลพิษครบวงจร !!!
ด้วยเหตุนี้แหละ ทางราชการเขาถึงปล่อยปละละเลยให้ใครต่อใครคิดจะเปิดอู่ซ่อมรถกันอย่างเสรีตามใจชอบ ไม่ได้เด็ดขาด
เพราะขืนเป็นอย่างนั้น รับรองนอกจากจะเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว อาจมีการตีกันตายระหว่างเจ้าของอู่ซ่อมรถกับชาวบ้านข้างเคียงที่ทนไม่ไหวแน่ๆ
ราชการท่านจึงต้องมีกฎหมายเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ไว้คอยควบคุมดูแลกิจการพวกนี้ ให้ทำให้ถูกสุขลักษณะไม่ก่อความเดือดร้อนกับชาวบ้านร้านตลาดเขา
นั่นก็คือ “พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535”
กฎหมายนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ แล้วถ้าทำดี ทำถูกสุขลักษณะ ก็จะได้รับการต่อใบอนุญาตไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าทำไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อให้เกิดมลภาวะต่อชุมชน เจ้าหน้าที่ก็จะสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นอันว่าจบกัน ไม่สามารถทำกิจการได้ชั่วคราว
แถมอาจจะโดนคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอู่ซ่อมรถในลำดับถัดไปได้อีกด้วย
แต่ในเรื่องคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาต มีข้อสำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเสียก่อนว่า เจ้าของอู่เขาทำกิจการไม่ถูกสุขลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดจริงๆ
เพราะขืนสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างที่ว่าให้ชัดเสียก่อน รับรอง ... คำสั่งนั้นของเจ้าหน้าที่ มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายแน่ๆ อย่างเช่นคดีที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
เหตุของเรื่องนี้เกิดที่กรุงเทพมหานคร โดยคุณอาเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง แกถูกชาวบ้านร้องเรียนเอากับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตว่า ทำอู่ซ่อมรถไม่ถูกสุขลักษณะ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านไปทั่ว
เจ้าหน้าที่เลยออกไปตรวจสอบ พบว่าอู่ของคุณอาทำผิดสุขลักษณะตามกฎหมายสาธารณสุขหลายเรื่องเชียว ทั้งในเรื่องของห้องพ่นสีที่เป็นห้องโล่ง บริเวณปล่องระบายอากาศไม่มีแผ่นกรองอากาศ หรือดูดซับกลิ่นก่อนระบายออก
ไหนจะเรื่องของบริเวณที่ล้างแท่นพิมพ์ที่อยู่ในที่โล่งอีกเหมือนกัน ทำให้กลิ่นน้ำมันฟุ้งกระจายรบกวนชาวบ้าน แถมยังมีการใช้น้ำยาลอกสี น้ำมันก๊าดและหมึกพิมพ์ ซึ่งมีสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและเกิดอาการแสบตาได้อีกด้วย
เจอเข้าหลายขนานอย่างนี้ เจ้าหน้าที่เลยปล่อยไว้ไม่ได้ ... เดี๋ยวมะเร็งถามหาชาวบ้านกันทั้งบางพอดี เจ้าหน้าที่เลยมีคำสั่งให้คุณอาหยุดประกอบกิจการชั่วคราว แล้วปรับปรุงสถานที่ใหม่ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะเสียก่อน
แต่ปรากฏว่าคุณอาแกดื้อ ยังประกอบกิจการต่อไปโดยไม่แก้ไข ... เจ้าหน้าที่มาตรวจใหม่ พบเข้าก็เลยสั่งพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวเสียเลย
แต่ที่เป็นเรื่องขึ้นมาก็เพราะว่า ช่วงนั้นใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอู่ซ่อมรถของคุณอาใกล้จะหมดอายุพอดี แกก็เลยไปยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ผู้ว่าก็มีคำสั่งไม่รับต่อใบอนุญาตให้คุณอา
แกก็ยื่นขอใหม่รอบสอง ผู้ว่าก็ไม่รับต่ออีก ... คุณอาแกก็ฮึด ยื่นขอต่ออีกเป็นคำรบที่สาม ผู้ว่าก็สั่งไม่รับต่อเป็นครั้งที่สาม โดยให้เหตุผลเหมือนกันทั้งสามครั้งว่า อู่ของคุณอาอยู่ในระหว่างถูกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวจนกว่าแก้ไขใหม่ให้ถูกสุขลักษณะตามกฎหมายสาธารณสุข
คุณอาแกเกิดฉิวขึ้นมากับเหตุผลของผู้ว่า แกก็เลยมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน แล้วยังเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตที่เจ้าหน้าที่ของราชการเป็นผู้ดูแลยู่อย่างนี้ มันก็ต้องเป็น “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” ที่ต้องให้ศาลปกครองเป็นผู้ตัดสินแต่เพียงผู้เดียว !
ซึ่งศาลท่านได้มีคำตัดสินไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตให้ใช้สถานที่ทำการค้าซึ่งเป็น ที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทซ่อมเครื่องจักรและพ่นสี
เพื่อประกอบกิจการค้าเครื่องจักร เครื่องยนต์ อะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามครั้ง
แต่ถูกปฏิเสธไม่รับต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามครั้ง โดยให้เหตุผลในคำสั่งแต่เพียงว่า สถานประกอบการของผู้ฟ้องคดีอยู่ในระหว่างถูกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวจนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเกี่ยวด้วยสุขลักษณะ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
โดยมิได้มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ปรากฏชัดแจ้งและแสดงให้เห็นได้ว่า สถานประกอบการของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกสุขลักษณะ หรือมีเหตุสมควรไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
กรณีจึงเห็นได้ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในขณะที่พิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตว่า สถานประกอบการของผู้ฟ้องคดียังคงก่อเหตุรำคาญแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยข้างเคียง หรือมีข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะหรือไม่ อย่างไร
ทั้งที่ก่อนพิจารณาคำขอดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า ได้ทำการปรับปรุงสถานประกอบการให้อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อมลพิษและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งแม้ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจะได้ทำการตรวจสอบสถานประกอบการของผู้ฟ้องคดี พบว่าระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่เป็นระบบสเปรย์น้ำ ยังไม่มีประสิทธิภาพบำบัดกลิ่นได้เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญได้ก็ตาม
แต่ก็เป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว
คำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญตามสภาพของเรื่องที่เป็นปัจจุบัน ทำให้ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งผิดพลาดในข้อสาระสำคัญ จึงมีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้จึงเป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่า การมีคำสั่งต่อหรือไม่ต่อใบอนุญาตในเรื่องใดให้แก่ประชาชนผู้ประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แน่ชัดในเรื่องนั้นๆ ด้วย ไม่งั้น ... อาจเข้าลักษณะการออกคำสั่งที่ผิดเป้าอย่างเช่นในคดีนี้ได้นะเจ้านาย !!! . (คดีหมายเลขแดงที่ อ. 364/2551)