เมื่อหน่วยงานของรัฐเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อหน่วยงานของรัฐเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเทอดพงศ์ คงจันทร์
อนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม


 

จริงหรือที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะขัดขวางการพัฒนาประเทศ ?
          ขึ้นเรื่องให้ฉงนกันเช่นนี้ ก็เนื่องจากมีการพูดกันมานานแล้วว่า การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจะทำให้คนมีกินมีใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าหยุดการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็เท่ากับทุบหม้อข้าวปากท้องของเรากันเองซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 
         คำถามก็มีต่อไปว่า ถ้าการพัฒนานั้น มันทำให้สิ่งแวดล้อมของประเทศเราไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ต้องพลอยเสียหายไปด้วย เช่น ชายฝั่งทะเลถูกกัดกร่อน น้ำทะเลปนเปื้อนสารพิษจากน้ำทิ้งโรงงาน ปลาตาย เต่าวางไข่ไม่ได้ อะไรพวกนี้ แล้วจะเป็นไง ?
         ไม่เป็นไร ... บ้านผมไม่ได้อยู่แถวนั้น เป็นเรื่องของคนในพื้นที่เขา ให้เขาสู้กันไปสิ ...อาจจะมีคนคิดเช่นนี้ 
         ก็ได้ ... คิดอย่างนี้ก็ได้ แล้วถ้าเกิดมีพ่อค้าเอาปลาที่มีสารพิษตกค้างจากพื้นที่นั้นมาขาย แล้วคุณก็ซื้อไปทอดให้ลูกคุณกิน แล้วเด็กเกิดมีอาการแพ้ ต้องล้มหมอนนอนเสื่อขึ้นมา 
         คุณยังจะบอกว่าบ้านไม่ได้อยู่แถวนั้น ปล่อยให้คนพื้นที่สู้กันไป แต่อย่าขัดขวางการพัฒนาอยู่อีกมั้ย ? 
         อาจจะไม่แล้วใช่มั้ย ... เห็นไหมหละว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม มันเชื่อมโยงกันได้หมด แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปัญหานั้น เราจึงต้องใส่ใจไง 
         และที่สำคัญต้องเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า การพัฒนาประเทศสามารถไปด้วยกันได้ (อย่างดีเสียด้วย) กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศเจริญแล้วที่ไหนในโลกเขาก็ทำกัน !!! 
         ไม่งั้นระบบอุตสาหกรรมของประเทศเขาคงไม่มีคำขวัญว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กันหรอก ใครเขาจะปล่อยให้ประชาชนของเขาเจ็บป่วยล้มตายไปต่อหน้าต่อตา พร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศได้เล่า 
          แล้วคนที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาประเทศแทนพวกเราทุกคนก็คือ “หน่วยงานราชการ” นี่แหละ  
          ลองมาฟังตัวอย่างดีๆ ที่หน่วยงานราชการของประเทศเราใส่ใจ ช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมแทนพวกเราคนไทยทั้งประเทศกันบ้าง 
          เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดพังงา เหตุก็เพราะว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาพิจารณาเห็นปัญหาว่า ในท้องที่บางอำเภอของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ 
          ทั้งการเสื่อมโทรมและการลดลงของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การรบกวนแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเลหายาก มลพิษและสารตกค้างจากน้ำเสียโรงงานที่ปล่อยลงสู่ทะเล รวมทั้งปัญหาการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศน์ 
          เรียกได้ว่าเป็นปัญหาหนักทุกขนาน !!!
          สาเหตุก็มาจากการขยายตัวของชุมชน อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก การจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชนเลยรับไม่ไหว ปัญหาเลยขยายตัวสะสมอย่างที่ว่า 
          คราวนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เลยเห็นว่า ขืนปล่อยช้าคงไม่ได้การ เดี๋ยวสิ่งแวดล้อมทางทะเลซึ่งเป็นทรัพยากร สำคัญของประเทศคงเสียหายกันใหญ่โต ก็เลยใช้วิธีการเด็ดขาดด้วยการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีออก ประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บางอำเภอของจังหวัดพังงา 
          สาระสำคัญประการหนึ่งของประกาศดังกล่าว อยู่ที่ข้อ 4(1) และข้อ 11 คือ การห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร เป็นโรงงานในเขตพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กบางประเภทเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นให้ เช่น โรงงานประเภทซัก อบ รีด หรือโรงงานทำน้ำแข็ง เป็นต้น 
          แล้วผู้ประกอบกิจการโรงงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ถ้าจะทำต่อก็ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ใหม่ 
          เดือดร้อนกลุ่มผู้ฟ้องคดีกันยกใหญ่สิทีนี้ เพราะเขาอ้างว่าทำธุรกิจโรงงานกันมาโดยถูกต้อง แล้วก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเสียด้วย ถ้ากิจการเขารุ่งเรือง ทำไมเขาจะไม่มีสิทธิขยายโรงงาน 
          ออกประกาศอย่างนี้ มันจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพกันชัดๆ ! ... นั่น อ้างข้อหาใหญ่เสียด้วย 
          ผู้ฟ้องคดีเลยรวมตัวกันมาตั้งยี่สิบห้างร้านบริษัท ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 
          คดีนี้เป็น คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศของหน่วยงานราชการที่มีสถานะทางกฎหมายเป็น กฎ” ... 
          แต่คุณๆ คงนึกสงสัยว่า แล้วกฎมันคืออะไรหละ ???
          กฎอธิบายง่ายๆ ก็คือ ข้อบังคับที่ออกโดยทางราชการซึ่งมีผลบังคับในเรื่องนั้นเป็นการทั่วๆ  ไปไม่เจาะจงว่าใช้บังคับกับใครเป็นการเฉพาะตัว 
          เหมือนอย่างประกาศที่ฟ้องกันอยู่นี้ไง ใครเป็นเจ้าของโรงงานในพื้นที่ที่หลวงเขาประกาศห้าม ก็ถือว่าเดือดร้อนเหมือนกันหมด ใช้สิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ 
         คดีนี้สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำวินิจฉัยว่า เหตุที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลจังหวัดพังงา ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม 
          จึงห้ามโรงงานทุกประเภทก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ เป็นอาคารหรือประกอบกิจการ เว้นแต่โรงงานที่เป็นไปเพื่อบริการชุมชนหรือมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 
          ดังนั้น มาตรการห้ามขยายโรงงานหรือย้ายโรงงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง จึงกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมให้อยู่ในบริเวณเดิม ไม่ให้มีการก่อมลพิษเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย 
          จึงเห็นได้ว่า ข้อ  4(1) และข้อ11 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ เป็นมาตรการที่สามารถบรรลุผลในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้มากกว่ามาตรการอื่น 
          เพราะหากปล่อยให้ขยายโรงงานหรือเพิ่มกำลังการผลิต แม้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม ก็จะทำให้ปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมีความรุนแรงมากขึ้นและยากแก่การแก้ไขในภายหลัง  
          ดังนั้น แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพกิจการโรงงานอุตสาหกรรมของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบคนในท้องที่ดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบคนไม่อาจขยายโรงงานหรือเพิ่มกำลังการผลิต อาจทำให้กระทบต่อรายได้ แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลา 5 ปี ที่อยู่ภายในระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าว 
          ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อนำผลประโยชน์ของส่วนรวมที่จะได้รับจากการกำหนดมาตรการต่างๆ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ยั่งยืนตลอดไป มาเปรียบเทียบกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบคนได้รับหรือคาดคะเนว่าจะได้รับผลประโยชน์ของส่วนรวมย่อมมีมากกว่า ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายกฟ้อง
          เมื่อหน่วยงานราชการใช้อำนาจหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ส่วนรวมแล้วเกิดประโยชน์ อย่างนี้ก็รับประกันได้เลยว่าถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกี่ครั้ง ก็ไม่มีวันแพ้ แล้วก็ยังไม่เป็นการขัดขวางการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน. (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.33/2553)

 


ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 8 ม.ค. 2556, 01:01 น. | กลับขึ้นด้านบน |