คำแนะนำของสำนักงานศาลปกครอง
ที่ 1/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์การแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีปกครอง
ด้วยสำนักงานศาลปกครองมีความเห็นว่า ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 บัญญัติไว้ในมาตรา 50 1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับ ยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการวางแนวทางในการปฏิบัติราชการทางปกครอง ในเรื่องการแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง สมควรแนะนำให้เจ้าหน้าที่ ผู้ออกคำสั่งทางปกครองปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเนื่องจากมาตรา 40 2 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องแจ้งรายละเอียดและระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองทราบด้วยเช่นกัน คำแนะนำนี้จึงได้กำหนดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 3 ด้วย ดังนี้
1. รายละเอียดในการแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีปกครอง มี 3 ประการดังนี้
• คำสั่งทางปกครองใดที่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองได้ ให้ผู้ออกคำสั่งทางปกครองระบุว่าผู้มีส่วนได้เสียอาจฟ้องต่อศาลปกครองไว้ท้ายคำสั่งหรือในหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
• ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องว่าการยื่นคำฟ้องอาจทำเป็นหนังสือไปยื่นต่อศาล โดยตรงหรือยื่นคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและศาลที่จะฟ้องได้แก่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง หรือศาลปกครองจังหวัดใด
• ระบุระยะเวลาสำหรับการยื่นคำฟ้องตามมาตรา 49 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ตัวอย่างเช่น ใช้ข้อความว่า “ ถ้าหากท่านประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่ง(หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์) นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครอง ..................................................... (ระบุชื่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง หรือศาลปกครองจังหวัดใด) ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งหรือทราบคำสั่ง (หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์) ”
2. วิธีการแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีในกรณีต่าง ๆ ซึ่งอาจแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้
(1) กรณีที่คำสั่งทางปกครองนั้นออกโดยผู้ออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งต้องอุทธรณ์ หรือโต้แย้งก่อนจึงจะฟ้องต่อศาลปกครองได้
กรณีนี้ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องแจ้งสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่ 1/2540 ตามนัยของมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีปกครอง
ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ด้วย โดยอาจแยกวิธีการแจ้งสิทธิเป็น 4 กรณี ดังต่อไปนี้
(1.1) กรณีกฎหมายกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง คำสั่งทางปกครองไว้ และกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลไว้ด้วย
ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองนอกจากจะต้องแจ้งให้ผู้รับคำสั่ง ยื่นอุทธรณ์ หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องแจ้งวิธีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ด้วยว่า
• ถ้ามีการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว
ผู้รับคำสั่งมีสิทธิฟ้องคดีคัดค้านคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลา 90 วันนับแต่วันที่รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายในเวลาที่กฎหมายเฉพาะกำหนดซึ่งอาจสั้นหรือยาวกว่า 90 วันก็ได้
• ถ้าในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์แล้วแต่ผู้มีอำนาจยังไม่วินิจฉัยอุทธรณ์
ผู้รับคำสั่งทางปกครองสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นการพิจารณาอุทธรณ์ล่าช้า รวมทั้งสามารถฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาของคำสั่งทางปกครองนั้นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วยก็ได้ โดยต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ หรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายเฉพาะกำหนดซึ่งอาจสั้นหรือยาวกว่า 90 วันก็ได้ ตัวอย่างของบทบัญญัติตาม (1.1) นี้ ได้แก่ มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติว่า
“ มาตรา 52 ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้แจ้งตามมาตรา 39 ทวิ และผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ”
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ออกคำสั่งดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ แล้วแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เสนอคดีต่อศาลภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มาตรา 25 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติว่า
“ มาตรา 25 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ตามมาตรา 9 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 23 หรือมาตรา 28 วรรคสาม มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว”
ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์”
“ มาตรา 26 ในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของ รัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี”
(1.2) กรณีกฎหมายเฉพาะกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง
คำสั่งทางปกครองไว้และกำหนดให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด หรือมิได้กำหนดให้ถึงที่สุดแต่มิได้กำหนดวิธีการหรือระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลไว้
ในกรณีนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องแจ้งให้ผู้รับคำสั่ง ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องแจ้งวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่ง ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกับกรณี ก. และ ข. ของ ข้อ (1.1) ข้างต้น การที่กฎหมายกำหนดให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นที่สุดนั้น มีผลเป็นที่สุดทางฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตัวอย่างของบทบัญญัติตาม (1.2) นี้มี 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. 2514 ซึ่งบัญญัติว่า
“ มาตรา 10 ผู้รับใบสุทธิแร่รายใดไม่พอใจในจำนวนแร่ทำเหมืองของตนให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันรับใบสุทธิแร่
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ”
มาตรา 19 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 ซึ่งบัญญัติว่า
“ มาตรา 19 จัตวา ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทวิ หรือผู้ขนส่งน้ำมันตามมาตรา 13 ทวิ ที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 19 ทวิ หรือมาตรา 19 ตรี แล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด”
มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2517 ซึ่งบัญญัติว่า
“ มาตรา 39 ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่กรรมการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์คนหนึ่งคนใดมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อปลัดกระทรวงได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งคำวินิจฉัยของปลัดกระทรวงให้เป็นที่สุด ”
(1.3) กรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดวิธีการและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองไว้ และไม่ได้กำหนดวิธีการและระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลไว้ด้วย
ในกรณีนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องแจ้งให้ผู้รับคำสั่งทราบว่าอาจยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง คำสั่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองจะต้องแจ้งวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ใน คำสั่งดังกล่าวด้วยว่า ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 44 6 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ผู้รับคำสั่งทางปกครองสามารถที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยแยกออกเป็น 2 กรณีเช่นเดียวกับ ก.และ ข. ของข้อ (1.1) ข้างต้น
(1.4) กรณีคำสั่งทางปกครองที่ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบถึงการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
คำสั่งด้วยวาจาโดยสภาพไม่สามารถแจ้งวิธีการและระยะเวลาอุทธรณ์ได้แต่ถ้าผู้รับคำสั่งร้องขอโดยมีเหตุอันสมควรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องยืนยันคำสั่งนั้นเป็นหนังสือตามมาตรา 35 7 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และในคำสั่งยืนยันเป็นหนังสือดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งรายละเอียดและระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ หรือโต้แย้งไว้ ตลอดจนระบุวิธีการและระยะเวลายื่นฟ้องต่อศาลปกครองไว้ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ (1.1) (1.2) หรือ (1.3)
(2) กรณีที่คำสั่งทางปกครองนั้นออกโดยผู้ออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท
โดยหลักแล้วคำสั่งดังกล่าวไม่ต้องมีการอุทธรณ์ (เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องอุทธรณ์) ดังนั้น ในการแจ้งคำสั่งดังกล่าวจะต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับ
ยื่นคำฟ้องให้ครบถ้วนตามคำแนะนำในข้อ 1.
(3) กรณีที่คำสั่งทางปกครองนั้นเป็นคำสั่งในชั้นอุทธรณ์โดยผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่คนเดียวหรือคณะกรรมการ)
(3.1) กรณีที่กฎหมายกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการฟ้องคดีไว้
เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (เจ้าหน้าที่คนเดียวหรือคณะกรรมการ) จะต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทราบว่า ผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองด้วยวิธีการอย่างไรและภายในระยะเวลาที่กฎหมายเฉพาะเรื่องกำหนดไว้ นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์
(3.2) กรณีที่กฎหมายเฉพาะเรื่องมิได้กำหนดวิธีการและระยะเวลาในการฟ้องคดีไว้
ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะต้องแจ้งวิธีการและระยะเวลา ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นเดียวกันโดยแยกเป็น 2 กรณี คือ
ก. กรณีที่กฎหมายกำหนดให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์มีผลเป็นที่สุด
แม้กฎหมายจะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์มีผลเป็นที่สุด แต่เป็นที่สุดใน ฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องต่อศาลปกครองได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (เจ้าหน้าที่คนเดียวหรือคณะกรรมการ) จะต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทราบว่า ผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ข. กรณีที่เป็นการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทราบว่าผู้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามระยะเวลาที่ระบุในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
3. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองที่ออกตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 และเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองมิได้ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะ เวลาสำหรับยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งทางปกครอง
บรรดาคำสั่งทางปกครองที่ออกตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ใช้บังคับเป็นต้นมา ถ้าเจ้าหน้าที่มิได้ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำสั่งทราบผลทางกฎหมาย จะทำให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องซึ่งมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปีขยายไปเป็นหนึ่งปี ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ควรพิจารณาว่าจะแจ้งวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำสั่งทราบหรือไม่เพื่อให้ระยะเวลายื่นคำฟ้องเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ผู้รับคำสั่งได้รับแจ้งข้อความดังกล่าวซึ่งจะสั้นกว่าหนึ่งปี ทั้งนี้ เพื่อมิให้การใช้สิทธิในการฟ้องคดีปกครองทุกเรื่องต้องขยายระยะเวลาออกไปเป็นหนึ่งปี อันจะทำให้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองขยายออกไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบริหารราชการและไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ของกฎหมาย
อนึ่ง สำหรับคำสั่งทางปกครองที่ออกก่อนวันที่ 11 ตุลาคม 2542 ไม่อยู่ในบังคับ ที่จะต้องแจ้งวิธีการและระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองแต่ประการใด
(นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รักษาการในตำแหน่ง
เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง
ข้อปฏิบัติตนในศาล
• ห้ามนำอาวุธ ยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดเข้ามาในบริเวณศาล
• เมื่ออยู่ในบริเวณศาลจะต้องประพฤติตนเรียบร้อย ไม่ส่งเสียงดังหรือทะเลาะวิวาท ไม่เปิดประตูชะโงกดูห้องพิจารณาคดีถ้าจะเข้าไปฟังการพิจารณาคดีก็ให้เข้าไปเลย อย่าทำลับ ๆ ล่อ ๆ หรือเดินเข้าออกให้รำคาญแก่ผู้อื่น และรบกวนการพิจารณาคดี
• ประชาชนทั่วไปมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้โดยแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อยต้องมีความสำรวม นั่งให้เรียบร้อย ไม่สนทนา หรือทำเสียงดัง ไม่สูบบุหรี่หรืออ่านหนังสือพิมพ์ และไม่บันทึกเสียงหรือถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
• เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาคดี ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีควรลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ถ้าศาลอ่านคำพิพากษา คำสั่งหรือ รายงานกระบวนพิจารณา คู่ความจะต้องยืนฟัง
• ควรปิดโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สื่อสารอย่างอื่น ที่อาจส่งเสียงดังรบกวนการพิจารณาคดีของศาล