การละเมิดอำนาจศาล |
การละเมิดอำนาจศาล |
การละเมิดอำนาจของศาลปกครองแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ คือเหตุตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเหตุตามที่กำหนดไว้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
1.เหตุตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
(1) การไม่แสดงหลักฐานตามกำหนดเวลาหรือประวิงคดี (มาตรา 57)
(2) การวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยไม่สุจริตและไม่ใช่ด้วยวิธีการทางวิชาการ (มาตรา 65)
2. เหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(1) ละเมิดที่เกิดจากการกระทำการอย่างใดๆ เช่น ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จงใจหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ หรือขัดขืนไม่มาศาลเมื่อศาลมีคำสั่งหรือมีหมายเรียก เป็นต้น (มาตรา 31)
(2) การละเมิดอำนาจศาลโดยการโฆษณา (มาตรา32)
เมื่อมีเหตุละเมิดอำนาจศาลปกครอง ศาลปกครองสามารถลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลได้โดย การว่ากล่าวตักเตือนโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การสั่งลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลโดยสั่งลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จะต้องให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งลงโทษ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกลงโทษ