การสรุปสำนวน

การสรุปสำนวน

         ในกรณีที่ตุลาการเจ้าของสำนวนได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำฟ้อง คำให้การ ฯลฯ และการชี้แจงของคู่กรณี รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลเองแล้วไม่ว่าในขณะใด เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีได้แล้ว หรือในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องสามารถวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอีก (ไม่ว่าจะครบ 4 ขั้นตอนแล้วหรือไม่) ตุลาการเจ้าของสำนวนมีอำนาจจัดทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริง ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย และความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยพร้อมสำนวนคดีเสนอให้องค์คณะพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งในการทำบันทึกนี้ตุลาการเจ้าของสำนวนจะต้องเสนอความเห็นของตนในการวินิจฉัยคดีด้วยว่าควรวินิจฉัยในแนวทางใด

         ในกรณีที่องค์คณะพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่าไม่มีกรณีต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตุลาการหัวหน้าคณะจะมีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง แล้วส่งสำนวนคดีให้อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นพิจารณา เพื่อส่งสำนวนคดีนั้นให้ตุลาการผู้แถลงคดีจัดทำคำแถลงการณ์เป็นหนังสือ เว้นแต่ในคดีที่เป็นเรื่องเร่งด่วน เรื่องที่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ยุ่งยาก หรือในกรณีคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาซึ่งอาจแถลงการณ์ด้วยวาจาได้ เมื่อตุลาการผู้แถลงคดีได้จัดทำคำแถลงการณ์เป็นหนังสือหรือสามารถเสนอคำแถลงการณ์ด้วยวาจาได้แล้ว องค์คณะจะกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกต่อไปหลังจากที่ได้หารือกับอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นแล้ว
จากอำนาจหน้าที่ของตุลาการเจ้าของสำนวนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนจะเป็นผู้มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาคดีของศาลปกครอง เพราะจะเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดี และพิจารณาเสนอความเห็นในเบื้องต้นต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะรับฟังคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีและมีคำพิพากษาต่อไป






ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ : 7 ม.ค. 2556