กระบวนการพิจารณาคดีชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง |
กระบวนการพิจารณาคดีชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง |
สำหรับกระบวนพิจารณาชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงนี้ตุลาการเจ้าของสำนวนจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อองค์คณะ โดยอาจแบ่งวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. การแสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารของคู่กรณี (คำฟ้อง คำให้การคำคัดค้านคำให้การ และคำให้การเพิ่มเติม) เป็นหน้าที่ของตุลาการเจ้าของสำนวนและเป็นวิธีการหลักในการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล กล่าวคือ เมื่อตุลาการเจ้าของสำนวนได้ตรวจคำฟ้องและเห็นว่าคำฟ้องที่ยื่นเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ครบถ้วน จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องยื่นคำให้การและพยานหลักฐานพร้อมกับจัดทำสำเนาคำให้การและสำเนาพยานหลักฐานยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด โดยผู้ถูกฟ้องคดีจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยื่นคำให้การพร้อมพยานหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดกฎหมายจะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับข้อเท็จจริงตามข้อหาของผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การแล้วศาลจะส่งสำเนาคำให้การพร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานไปยังผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีทำคำคัดค้านหรือยอมรับคำให้การ ภายใน 30 วัน หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทำคำคัดค้านคำให้การและไม่แจ้งต่อศาลเป็นหนังสือว่าประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีออกจาก สารบบความได้ คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดีจะทำได้เฉพาะในประเด็นที่ยกขึ้นกล่าวแล้วในคำฟ้อง หรือคำให้การ หรือที่ศาลกำหนด และเมื่อมีการยื่นคำคัดค้านคำให้การแล้วให้ศาลส่งสำเนาคำคัดค้านคำให้การให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อทำคำให้การเพิ่มเติมภายใน 15 วัน หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การเพิ่มเติมแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนมีอำนาจจัดทำบันทึกของตุลาการเจ้าของสำนวนเสนอองค์คณะเพื่อพิจารณา ต่อไป
จากขั้นตอนดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงจากคู่กรณี ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเรื่องการฟังความสองฝ่ายและการโต้แย้งชี้แจง ซึ่งสามารถ สร้างความเป็นธรรมให้แก่คู่กรณีได้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้วจะมีขั้นตอน 4 ขั้นตอนตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอนดังกล่าว (เช่น ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งหรือไม่อาจโต้แย้งหรือปฏิเสธได้) ก็อาจยกเว้นไม่ดำเนินการจนครบทุกขั้นตอนก็ได้ ดังจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการสรุปสำนวน