สำนักงานศาลปกครองขอแจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2564 |
กำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง
ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2564
สำนักงานศาลปกครองขอแจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้
1. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 40/2564 ระหว่าง นายรัชนันท์ ธนานันท์ (ผู้ฟ้องคดี) กับ วุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(นายรัชนันท์ ธนานันท์ ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามประกาศ ก.ศป. ลว. 16 ต.ค. 2562 แต่วุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา มีมติในการประชุม ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ไม่ให้ความเห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
ณ ห้องไต่สวน 1 ชั้น 2 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
2. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 2030/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1664/2557 ระหว่าง คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน ฟ้องว่า กรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5313/2551 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2551 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยอ้างว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กระทำผิดวินัยกรณีเกี่ยวกับการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร โดยละเว้นไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ ทำให้การกระทำผิดโดยการลงนามในข้อตกลงซื้อขายกับบริษัท STEYR - DAIMLER - PUCH SPEZIALFAHRZEUG AG&CO KG บรรลุผล ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่มีการยกอุทธรณ์ตามหนังสือลงวันที่ 24 ก.ย. 2553 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย)
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและมติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือมติ เนื่องจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้ร้องสอด)ดำเนินการตามมาตรา 91 (1) และมาตรา 92 ย่อมแสดงว่าผู้ร้องสอดเห็นว่า กรณีประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการถือเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีหนึ่ง ซึ่งศาลไม่เห็นพ้องด้วย ข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีจึงฟังขึ้น ผู้ร้องสอดไม่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการแต่อย่างใด เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเป็นกฎหมายที่การใช้บังคับก่อให้เกิดผลร้ายหรือเสียหายต่อบุคคล การตีความจึงจำต้องกระทำอย่างเคร่งครัด ไม่สมควรตีความในลักษณะของการขยายความเพิ่มขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ใช้บังคับกฎหมาย ดังนั้น การตีความหมายของการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงสมควรตีความโดยจำกัดขอบเขตของการกระทำเพียงว่า หน้าที่ราชการนั้นๆ เป็นหน้าที่ราชการที่มีการกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ เช่น การเป็นเจ้าพนักงาน การเป็นนายทะเบียนในเรื่องใด การเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ อนุญาตในเรื่องใด ฯลฯ เป็นต้น หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทั่วไปตามตำแหน่งที่ครองอยู่ เว้นแต่เป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครอง
ณ ห้องพิจารณาคดี 6 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
3. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ศาลปกรองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (รวมจำนวน 17 สำนวนคดี)
(ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำปี ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิที่จะได้รับโดยชอบด้วยกฎหมาย)
ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
4. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 86/2560 ระหว่าง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และเวลา 10.30 น. ในคดีหมายเลขดำที่ 154/2560 ระหว่าง บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 กับพวก รวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ผู้ฟ้องคดี ในคดีทั้งสอง ฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน มีคำสั่งตามหนังสือ ที่ สทช 4007/41713 ลงวันที่ 28 ต.ค. 2559 ให้ผู้ฟ้องคดียุติการโฆษณาอันเป็น การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ฟ้องคดีออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้
ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
ณ ห้องพิจารณาคดี 8 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
5. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 712/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(บริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องว่า องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผิดสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามสัญญาเลขที่ TPBS-Legat (R) 002/2557 ลว. 10 ก.พ. 2557 สัญญาเลขที่ TPBS-Legat (R) 003/2557 ลว.10 ก.พ. 2557 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลว.10 พ.ค. 2559 ให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินค่าใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง SD โดยอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีค้างชำระเงินและใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่จัดให้มีการขยายโครงข่ายระบบดิจิตอลเพื่อให้ประชาชนรับสัญญาณได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
ณ ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
6. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ บ.225/2559 และ บ.284/2559 ระหว่าง นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน (ผู้ฟ้องคดี) กับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง
(นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน ฟ้องว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งที่ 259/2558 ลว. 9 ก.ย. 2558 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย
ต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องขาดคุณสมบัติและต้องถอนตัวจากการดำรงตำแหน่งต่างๆ และทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับบำนาญ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
7. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 1807/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 386/2558 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ผู้ฟ้องคดี) กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
(สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 545 คน ฟ้องว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ไม่ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม 545 คน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อโดยตรงจากมลภาวะทางเสียงของเครื่องบิน อันเนื่องมาจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมในการศึกษาหรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม 545 คน ได้ร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย)
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเติม ซึ่งผู้ฟ้องคดีและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดดำเนินการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในขั้นตอนของการดำเนินงานหรือภายหลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) ได้ให้ความเห็นชอบ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่จำต้องนำโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งโครงการสนามบินสุวรรณภูมิตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ยังไม่ถึงขั้นมีมลพิษร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงแก้ไขได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไม่ประกาศให้สนามบินเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ จึงมิได้เป็นการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งหากการกำหนดห้ามบินในเวลากลางคืนอาจส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในวงกว้าง ซึ่งมีผลเสียมากกว่าเมื่อเทียบกับการคุ้มครองสิทธิในการพักผ่อนของประชาชนโดยรอบของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเสียงมีค่าเกินมาตรฐานเพียงเล็กน้อยบางช่วงเวลาจึงไม่มีเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องระงับการให้บริการขึ้นลงของเครื่องบินทุกประเภทในช่วงเวลา 12 นาฬิกาจนถึงเวลา 5 นาฬิกาดังกล่าว
ณ ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
สำนักงานศาลปกครอง 18 กุมภาพันธ์ 2564
วันทีประกาศข่าว:
19 ก.พ. 2564 |
เอกสารประกอบ |
ข่าวอื่นๆ ในหมวดประชาสัมพันธ์ |